26 มีนาคม 2554

ประวัติของ gunpla ละเอียดมาก

                                            (ตัวนี้เป็น rx-78ขนาดเท่าตัวจริงครับ)
นับเป็นเวลามากกว่า 25 ปีแล้วที่สินค้าของเล่นพลาสติกโมเดล (พลาโม) ที่ถูกเรียกว่า “GUNPLA” (กันพลา) ได้ออกวางจำหน่ายโดย บันได (BANDAI) บริษัทของเล่นอันดับ 1 ในญี่ปุ่น และของเล่นดังกล่าวก็ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด นับจากรุ่นลูกสู่รุ่นพ่อ ความนิยมนั้นก็ไม่เคยลดลงแม้แต่น้อย มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกวันๆ อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้ของเล่นซีรีส์นี้ได้รับความนิยมกันนะ?

ว่า กันว่าประวัติศาสตร์ของพลาสติกโมเดลนั้นเริ่มต้นขึ้นบริษัท Frog ในประเทศอังกฤษได้ออกวางจำหน่ายพลาโมซีรีส์ “เพนกวิน” ขนาด 1/72 ในปี 1936 จากนั้นเมื่อเช้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เริ่มมีการขยายตัวเข้าไปในประเทศอเมริกา และญี่ปุ่น ด้วยความที่อยู่ในสภาวะสงครามทำให้ช่วงแรกของเล่นจำลองแบบพวกนี้จึงได้ต้น แบบมาจากของเครื่องบิน,เรือรบ และรถถัง จนเมื่อสภาวะสงครามสงบลง การแข่งขันรถเป็นที่ได้รับความนิยมอย่างสูง พลาโมที่จำลองแบบมาจากรถแข่งทั้งหลายจึงได้รับความนิยมตามไปด้วยเช่นกัน และ BANDAI เองก็เป็นบริษัทที่เกิดจากการผลิตพลาโมรถแข่งแบบนี้ด้วยเช่นกัน

สำหรับ วงการพลาสติกโมเดลในญี่ปุ่นนั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อทางบริษัท MARUSAN เริ่มวางจำหน่ายพลาสติกโมเดลชุดจำลองเรือดำน้ำขนาด “1/300 SSN-571 NAUTILUS”

ในเดือนธ.ค. ปี 1958 ซึ่งตอนนั้นทาง MARUSAN เป็นสปอนเซอร์ให้กับเรื่อง “Riku to Umi to Sora to” (ผืนดิน ผืนน้ำและแผ่นฟ้า) ทำให้พลาสติกโมเดลเริ่มได้รับความนิยมจนกลายเป็นงานอดิเรกแบบใหม่ ส่วนพลาสติกโมเดลที่จำลองแบบมาจากสินค้าคาแรเตอร์ตัวแรกนั้นแน่นอนว่าจะต้อง เริ่มต้นมาจากพลาโมซูปเปอร์โรบ็อตตัวแรกอย่าง “Tetsujin 28 Go” ( หุ่นเหล็กหมายเลข 28 ) ของบริษัท IMAI (ปัจจุบันถูกบริษัท Aoshima ซื้อกิจการไปแล้ว) และหลังจากการวางจำหน่ายก็ทำให้สินค้าพลาโมที่มาจากคาแรคเตอร์ที่ออกฉายทาง ทีวีตามออกมาอีกนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น “เจ้าหนูอะตอม” ,”ธันเดอร์เบิร์ด” ฯลฯ

ปี 1969 นี่เองที่แม้ว่าจะเกิดกระแสพลาโมบูมก็ตามทีแต่บริษัท IMAI นั้นกลับเกิดปัญหาในการจัดการภายในจนไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันตามความต้อง การ จึงได้ว่าจ้างให้โรงงานของ BANDAI ซึ่งก่อตั้งในปี 1967 ที่ชิซุโอกะ เป็นผู้รับผิดชอบในการผลิตสินค้ารีโปรดักส์ให้ ซึ่งเดิมทีแล้วทาง BANDAI ไม่ได้เคยมีความสนใจในโมเดลจากคาแรคเตอร์เลยแม้แต่น้อย จนเมื่อทาง IMAI ได้มาว่าจ้างให้ทำการผลิต BANDAI จึงได้โอกาสทำการศึกษาตลาดพร้อมกับพัฒนาสินค้าของตัวเอง จนในปี 1970 จึงได้มีโอกาสแปะชื่อ BANDAI ไปกับสินค้าของทาง IMAI ซึ่งตอนนั้นขายสินค้าพลาโมจากชุด “Thunderbird” ได้ถล่มทลาย ส่งผลให้ผลประกอบการของ BANDAI ดีขึ้นมากจนถึงขนาดในปี 1971 นั้นสามารถจดทะเบียนกลายเป็นรูปแบบบริษัทจำกัดได้เลยทันทีซึ่งหลังจากบริษัท กลายเป็นรูปเป็นร่าง BANDAI ก็เร่งผลิตสินค้าพลาโมจากคาแรคเตอร์ออกมาอีกมากมายจนขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โดยเฉพาะกับสินค้าชุด Thunderbird และ Masked Rider ที่เปิดตัวในช่วงนั้นพอดี

จนในปี 1977 กระแสความนิยมในเรื่อง “เรือรบอวกาศยามาโตะ” ฮิตถล่มทลายมากในญี่ปุ่น จนทำให้มีการผลิตพลาโมในซีรีส์ “Mechanic Collection” ออกมาเพื่อตอบสนองแฟนๆที่ต้องการพลาโมที่มีรายละเอียดมากยิ่งกว่าชุด “Image Model” ที่ออกมาก่อนหน้านี้ จนในเดือนก.พ.ปี 1980 หลังจากอนิเมชั่นตอนที่ 42 ของ “Mobile Suit Gundam” ฉายจบลงทาง BANDAI ก็ประกาศที่จะนำคาแรคเตอร์หุ่นยนต์ในอนิเมชั่นดังกล่าวมาผลิตเป็นของเล่นใน ซีรีส์ Mechanic Collection เช่นกันและที่พิเศษยิ่งกว่านั้นก็คือจะเป็นพลาโมจากหุ่นยนต์เรื่องแรกที่มี การคำนึงถึงเรื่อง “สเกล” ด้วย หลังจากที่ผ่านมานั้นของเล่นพลาโมที่ถอดแบบมาจากอนิเมชั่นนั้นจะออกมาในรูป แบบ NON-SCALE ทั้งหมด (ไม่สามารถวัดค่าความสูงได้จริง) ในเดือนก.ค.ปีเดียวกันนั้นเองสินค้า Mechanic Collection อันดับที่ 4 ขนาดสเกล 1/144 ของ RX-78 GUNDAM ก็ออกวางจำหน่าย และในเดือนเดียวกันนั้นเองเพื่อเป็นการเปิดทางสู่ของเล่นซีรีส์ใหม่ ทาง BANDAI ก็ได้ออกวางจำหน่ายพลาโมของกันดั้มที่เรียกได้ว่าเป็น “กันพลา” ตัวแรกของโลกด้วยสเกลขนาด 1/100 ที่ใหญ่และสวยยิ่งกว่าเดิม และสเกล 1/100 ก็ยังกลายเป็นสเกลมาตรฐานต้นแบบให้กับการออกหุ่นในซีรีส์อื่นๆ เช่น Xabungle และ Godzigma อีกด้วย ส่วนข้อเท็จจริงในการที่ต้องออกเป็นสเกล 1/100 นั้นก็เพราะทาง BANDAI มีคอนเซปท์ว่าต้องการให้กันพลาชุดดังกล่าวนั้นสามารถแยกชิ้นส่วนคอร์ ไฟเตอร์ รวมถึงสามารถเล่นประกอบร่างได้จริงนั่นเอง

ในปี 1981 เมื่อมีการนำเอากันดั้มกลับมาตัดต่อใหม่เป็นรูปแบบภาพยนตร์จอเงิน กระแสความนิยมในกันพลาก็ยิ่งได้รับความนิยมมากกว่าเดิม จนเมื่อทางสนพ.โคดันฉะ ลงตีพิมพ์การ์ตูนเรื่อง “พลาโมเคียวชิโร่” ในนิตยสาร BON BON ซึ่งเป็นเรื่องราวของเหล่าเด็กหนุ่มที่ชื่นชอบในกันพลา ก็ทำให้เกิดเหล่าโมเดลเลอร์ซึ่งนิยมนำเอากันพลามาตกแต่งตามจินตนาการของตัว เองมากยิ่งขึ้น

ปี 1983 เมื่อไม่มีทั้งภาพยนตร์และการ์ตูนเกี่ยวกับกันดั้มออกมา แถมรวมทั้งโมบิลสูทและโมบิลอาร์เมอร์ที่ปรากฏตัวออกมาก็มีรวมกันเพียงแค่ 23 แบบเท่านั้น ความคิดที่ว่า “กันดั้มไม่จำเป็นต้องมาจากอนิเมชั่นหรือการ์ตูนเสมอไป” ก็อุบัติขึ้นกลายเป็น “MSV (Mobile Suit Variation)” กันพลาที่เกิดขึ้นจากการแต่งเสริมเรื่องราวที่ขาดหายไป หรือไม่ได้พูดถึงในภาคทีวี โดยสินค้า 4 ชุดแรกอันได้แก่ EMS-05 Agg,MSM-04G Juagg,MSM-04N Agguguy,MSM-08 Zogok ที่แต่งเสริมเรื่องราวมาจากตอนที่พวกกองทัพซีออนบุกฐานจาโบรของกองทัพโลก ก็ออกวางจำหน่าย พร้อมกับมีการลงเรื่องราวในหนังสือ Bon Bon เพื่อให้คนเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น รวมถึงมีการออกชิ้นส่วนเสริม เช่น อาวุธ เพื่อใช้เล่นกับกันพลาชุดที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ด้วย แน่นอนว่าสินค้าชุด MSV นี้ประสบความสำเร็จมาก และว่ากันว่าสินค้าที่ถือว่าเป็นสุดยอดที่สุดในชุด MSV นั้นก็คือ 1/100 Perfect Gundam ซึ่งเป็นกันพลาที่ตัวเอกในเรื่อพลาโมเคียวชิโร่ใช้นั่นเอง

ปี 1985 ถือได้ว่าเป็นปีของการร่วมมือกันระหว่าง BANDAI ที่เป็นสปอนเซอร์หลักและ SUNRISE สตูดิโอผู้ผลิตอนิเมชั่นชุดนี้อย่างแท้จริง เมื่อ “MOBILE SUIT Z GUNDAM” ออกฉายในเดือนมี.ค. ทาง BANDAI ก็ไม่รอช้าในเดือนเม.ย. ก็ออกวางจำหน่ายพลาโมขนาด 1/144 ของ RX-178 GUNDAM Mk-II และ Hi-Zack ซึ่งเป็นโมบิลสูทที่ปรากฏตัวในช่วงต้นเรื่องทันที ซึ่งรูปแบบการวางจำหน่ายพลาโมเมื่อมีโมบิลสูทปรากฏตัวในทีวีแบบนี้ก็ยังถูก นำมาใช้จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะหาซื้อพลาโมของโมบิลสูทตัวที่ชอบได้ทันทีที่มัน ปรากฏตัวบนจอโทรทัศน์ ดังที่คุณเห็นอยู่ทุกวันนี้

ในปี 1985 แม้ว่า BANDAI จะเติบโตขึ้นจากการขายพลาโมของกันดั้มแล้วก็ตาม แต่ว่าบริษัทคู่แข่งอย่าง TAKARA (ปัจจุบันคือ TAKARA TOMY) ซึ่งยังมีสิทธิในการผลิตสินค้าจากอนิเมชั่นของสตูดิโอ SUNRISE ก็ได้เปิดตัวสินค้าใหม่อย่าง ChoroQ Dagram ซึ่งเป็นมาสคอทขนาดย่อส่วนจากอนิเมชั่นเรื่อง “Taiyo no Kiba Dagram” จากการเห็นสินค้านี้เองทำให้ทาง BANDAI เองก็สนใจที่จะนำเอาคาแรคเตอร์กันดั้มของตัวเองมาย่อส่วนลงเพื่อออกวาง จำหน่ายบ้าง ทำให้เกิดกลายมาเป็น Super Deformation Gundam หรือ SD Gundam อยู่ทุกวันนี้ แต่อย่างไรก็ดีสินค้าที่ออกเกี่ยวกับ SD Gundam อันแรกนั้นไม่ใช่กันพลา แต่ว่าเป็นกาชาปอง (ของเล่นไข่หมุน) ชุด SD Gundam World ซึ่งภายหลังก็มีการนำเอาไปทำเป็นเกมบนเครื่องแฟมิคอมอีกด้วย
เรื่อง ราวของ SD Gundam ไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้นเมื่อได้มีการนำเอา “Musha Gundam” ซึ่งเป็นซามูไรกันดั้มที่เคียวชิโร่ ตัวเอกจากเรื่องพลาโมเคียวชิโร่ใช้ในการ์ตูนมาทำเนื้อเรื่องแยกเป็นเอกเทศ ของตัวเอง และเขียนเป็นการ์ตูนลงตีพิมพ์ในนิตยสาร BON BON ของสนพ.โคดันฉะ จนทำให้ในเดือนธ.ค. ของปี 1988 พลาโมของ SD Gundam ตัวแรกก็ได้ออกวางจำหน่ายซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องเป็น Musha Gundam นั่นเอง โดยพลาโมดังกล่าวนั้นใช้ชื่อสินค้าว่า “BB Senshi” ซึ่ง BB นั้นเป็นคำที่ได้มาจากกระสุน BB ของปืนอัดลมนั่นเอง


ย้อนกลับไป ในปี 1987 หลังจากการฉายจบลงของ “Mobile Suit Gundam ZZ” ซึ่งได้รับความนิยมน้อยกว่า Z Gundam ประกอบกับทางโทรทัศน์ก็เต็มไปด้วยอนิเมหนังหุ่นยนต์มากมาย จนหลายคนคิดว่ายุคกันพลาบูมนั้นน่าจะจบลงซะแล้ว นิตยสาร Model Graphix รายเดือน ก็ได้เปิดตัวนิยายชุด “Gundam Sentinel”
ด้วยเนื้อเรื่องอัน สุดยอดของคุณมาซายะ ทาคาฮาชิ ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของซีรีส์กันดั้ม ประกอบกับผลงานแมคคานิคดีไซน์ที่เปลี่ยนโลกของกันดั้มให้สมจริงมากยิ่งขึ้น ของคุณคาโตกิ ฮาจิเมะ ก็ทำให้ซีรีส์นี้ฮิตระเบิดจนทาง BANDAI ต้องออกของเล่นอย่าง 1/144 Full Armor ZZ Gundam ตามออกมาในแทบจะทันที ซึ่งความดังของเรื่องนี้อาจจะทำให้หลายคนจำได้มากกว่าที่จะจำได้ว่า สถานการณ์ในนิยายของเรื่องนี้ดำเนินเรื่องอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับ Gundam ZZ ซึ่งไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จเท่าไหร่ซะด้วยซ้ำ

1989 วงการอนิเมชั่นเริ่มเข้าสู่ยุครุ่งเรืองเมื่อมี OVA (Original Video Animation) กำเนิดขึ้นมา เหล่า ครีเอเตอร์หน้าใหม่กำเนิดขึ้นมากมายพร้อมกับงานที่หลากหลาย แต่ในยุคนี้อนิเมหุ่นยนต์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดไม่ใช่กันดั้ม แต่ว่าเป็น “Mobile Police Patlabor” ซึ่งมีทั้งฉบับการ์ตูน อนิเมทีวีซีรีส์ OVA รวมถึงหนังโรง ดังนั้นเพื่อให้เข้ากระแสและสานต่อชื่อของกันดั้มจึงได้มีการตกลงที่จะทำ OVA ชุด “Mobile Suit Gundam : War in the Pocket” ขึ้นมาเพื่อสนองแฟนๆ ของภาคก่อนๆ เพราะเป็นการหยิบเอาเรื่องราวจากภาคแรกสุดมาทำเป็นไซด์สตอรี่ โดยเพิ่มโมบิลสูทอย่าง Gundam NT-1 Alex และ Kampfer เข้าไปใหม่ ในขณะที่โมบิลสูทตัวอื่นก็ถูกนำกลับมาจับปัดฝุ่นออกแบบใหม่โดยคุณยูทากะ อิซูบุจิ ซึ่งเป็นผู้ออกแบบแมคคานิคดีไซน์ให้กับแพทเลเบอร์นั่นเอง แน่นอนว่าทาง BANDAI ก็ทยอยออกสินค้าจาก OVA ชุดนี้ออกมาเรื่อยๆ ตามสูตร แต่อย่างไรก็ดีสำหรับในแง่ของพลาโมแล้ว ส่วนที่น่าพูดถึงก็คือเรื่องเทคนิคในการประกอบที่เข้ามาใหม่อย่าง “Poly Joint” ซึ่งทำให้แม้แต่กันพลาสเกล 1/144 อย่าง NT-Alex นั้นสวมชุดเกราะโจบามอาร์เมอร์ถอดเข้าถอดออกได้อย่างสมบูรณ์และก็ยังคงใช้มา เรื่อยจนถึงทุกวันนี้

ในปี 1990 เพื่อฉลองครบรอบการวางจำหน่ายมาอย่างยาวนานถึง 10 ปีของกันพลา BANDAI จึงได้มีความคิดที่จะปรับปรุงรูปแบบการผลิตของกันพลาขึ้นมาใหม่ ด้วยความรู้และความสามารถที่มากกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน รวมถึงมีการพัฒนาเทคนิคในการประกอบ และการขึ้นแบบที่ทำให้กันพลานั้นดูดียิ่งกว่าเดิมมาก ทาง BANDAI จึงได้เลือกที่จะนำเอากันพลาชุดของ Mobile Suit Gundam และ Mobile Suit Z Gundam มาทำการรีเมคออกใหม่ในซีรีส์ HG (High Grade) ในขนาดสเกล 1/144 และแน่นอนว่าสินค้าที่ออกมาตัวแรกก็ยังคงเป็น RX-78 Gundam โมบิลสูทตัวแรกที่เคยออกวางจำหน่ายเมื่อ 10 ปีก่อน จากนั้นก็ตามด้วยการออกสินค้ากันดั้มภาคอื่นๆ ทยอยตามออกมา ซึ่งปัจจุบันกันพลาซีรีส์ HG นั้นก็ยังคงออกวางจำหน่ายในตลาดอย่างต่อเนื่องทุกเดือน กลายเป็นแบรนด์สินค้ากันพลารูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยม เนื่องจากมักจะออกสินค้าอ้างอิงกับอนิเมชั่นที่ออกฉายในช่วงนั้นๆ เป็นประจำ และราคาก็อยู่ในระดับปานกลางพอที่คนที่มีเงินปานกลางจะซื้อได้นั่นเอง

ปี 1991 แนวทางในการทำซีรีส์กันดั้มยุคใหม่ ก็ถูกเปิดขึ้นอย่างแท้จริง เมื่อทาง BANDAI ตัดสินใจที่จะเปิดตัวซีรีส์กันดั้มถึง 2 เรื่องควบคู่กัน โดยมีทั้งภาพยนตร์จอเงินอย่าง “Mobile Suit Gundam F91” และ OVA ชุด “Mobile Suit Gundam 0083 Star Dust Memory” ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการฉาย Gundam F91 ผลงานฉบับนิยายและการ์ตูนของ “Mobile Suit Gundam F90” ก็ดำเนินหน้าไปก่อนแล้ว และเป็นซีรีส์ของ F90 นี่เองที่เป็นต้นแบบคอนเซปท์ของกันดั้มในปัจจุบันที่สามารถเปลี่ยนชิ้นส่วน ได้ เนื่องจากแต่ดั้งเดิมนั้นหุ่นยนต์ในซีรีส์นี้จะถูกเรียกรวมว่า “Formula Project” ซึ่งเน้นการออกแบบหุ่นน้ำหนักเบาที่สามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนเพื่อใช้ตามแต่ละ สถานการณ์ได้ และในตัวต้นฉบับของ F90 เองก็มีชิ้นส่วนให้เลือกเปลี่ยนได้มากถึง 26 แบบตามตัวอักษรภาษาอังกฤษไล่ไปจาก A-Z นั่นเอง แต่ทาง BANDAI เองก็ไม่เคยออกกันพลาชิ้นส่วนเสริมของ F90 ได้ครบ มีเพียงแค่ 6 แบบเท่านั้นที่ออกมาวางจำหน่ายจริง นอกจากนี้แล้วในปีนี้ก็ยังมีการออกสินค้าชุดสเกล 1/60 ของ Gundam F91 หลังจากที่ไม่เคยออกวางจำหน่ายกันพลาในสเกลนี้มานานถึง 6 ปีแล้วด้วย

ปี 1993 หลังจากจบการทำตลาดของ MSV ชุด Gundam F91 ในปี 1992 ไปแล้ว BANDAI ก็เริ่มผลงานอนิเมชั่นทีวีซีรีส์ของกันดั้มใหม่หลังจากไม่เคยฉายมานานถึง 7 ปีด้วย “Mobile Suit V gundam” ในส่วนของกันพลานั้น สินค้าชุด 1/144 Victory Gundam ที่ออกวางจำหน่ายในเดือนพ.ค.นั้นก็เป็นกันพลาตัวแรกในสเกล 1/144 ที่มีการใส่ “V Frame” ซึ่งเป็นแกนกลางที่ทำหน้าที่แทน Poly Joint ทำให้ตัวกันพลานั้นสามารถโพสท่าได้หลากหลายมากขึ้น และเนื่องจากการที่ V Gundam นั้นเป็นหุ่นที่สามารถแยกร่างได้ทำให้ความสามารถในการแยกร่างนั้นจะมีอยู่ เฉพาะในกันพลาสเกล 1/100 ซึ่งออกเป็นสินค้าแบบ HG เท่านั้น

ปี 1994 เพื่อเป็นการฉลองโปรเจคครบรอบ 15 ปีของอนิเมชั่นกันดั้ม ทางซันไรซ์จึงได้ไปจ้างให้ผู้กำกับคุณอิมากาว่า ยาซึฮิโร่ ซึ่งตอนนั้นโด่งดังจากการกำกับ OVA ชุด Giant Robo และทีวีซีรีส์ชุด “Mister Ajiko” มาเป็นผู้สร้างสรรค์เรื่องราวใหม่ของกันดั้ม ซึ่งคุณอิมากาว่ามองเห็นว่าเรื่องราวแนวทหารในโลกของกันดั้มเดิมนั้นหนัก เกินไป เขาจึงคิดจะเปลี่ยนให้เรื่องการต่อสู้กันของกันดั้มเป็นเหมือนเกมซึ่งวัย รุ่นสมัยนั้นชอบมากกว่า ผลที่ได้ก็คือ “Mobile Fighter G Gundam” กันดั้มที่แหวกแนวมากที่สุดจากทุกซีรีส์ ทั้งเนื้อหาและการดีไซน์ที่เปลี่ยนให้กันดั้มเป็นเหมือนนักสู้ตัวแทนแต่ละ ประเทศมาต่อสู้กัน แทนที่จะเป็นเรื่องของกองทัพต่อกองทัพแทน ในแง่ของการผลิตพลาโมก็มีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน เนื่องจากว่ากันพลาในชุดของ G Gundam นี้ต้องอาศัยการโพสท่าที่มากกว่าเดิม ทำให้ระบบ V Frame ที่เคยใช้ใน V Gundam ต้องยกเลิกเปลี่ยนเป็นแบบ Polycap แทน ซึ่งมาตรฐานการใช้การเชื่อมต่อแบบ Polycap นี้จะถูกใช้ไปจนถึง Gundam Wing และ Gundam X เลยทีเดียว อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือเรื่องของการออกชุด Grade Up Set ซึ่งเป็นชิ้นส่วนเสริมสำหรับเปลี่ยนให้กันพลาสเกล 1/144 ของ G Gundam สามารถแสดงท่าไม้ตายออกมาได้นั่นเอง นอกจากนี้ผลงานพลาโมสเกล 1/100 แบบ HG ของชุด G Gundam นี้ก็มีรายละเอียดรวมถึงลูกเล่นมากพอที่จะเรียกได้ว่าใกล้เคียงกับชุด MG ที่จะเปิดตัวในปีถัดไปเลยทีเดียว

ปี 1995 หลังจากการกลับมาฉายทางจอทีวีของ V Gundam และมีฉายมาอย่างต่อเนื่องทำให้กระแสของกันพลากลับมาอีกครั้งในหมู่เด็กๆ โดยเฉพาะกับการฉายของ “New Mobile Report Gundam Wing” ซึ่งนำเนื้อเรื่องเกี่ยวกับแนวกองทัพกลับมาใช้อีกครั้ง แต่คราวนี้เพิ่มเติมความเป็นไอด้อลเข้าไปด้วยการกำหนดให้ตัวเอกที่ขับกัน ดั้มมีมากถึง 5 คน ทำให้ไม่แปลกที่คนจะเลือกซื้อกันดั้มทีละหลายๆ ตัว แทนที่จะต้องซื้อเพียงแค่ตัวเอกตัวเดียวเหมือนเมื่อก่อน แต่สำหรับนักเล่นมืออาชีพแล้วก็ไม่รู้สึกพอใจกับสินค้าที่เป็นอยู่ในตอนนี้ มากนัก แถมกระแสของการเล่นโมเดลนั้นก็หันเหไปทางงานแบบการาจคิท (Garage Kit) เพิ่มขึ้นด้วย BANDAI จึงได้จับมือร่วมกับทางนิตยสาร Hobby Japan เพื่อช่วยในเรื่องการออกแบบสินค้าตัวใหม่ซึ่งมีสัดส่วนที่สมจริงและถูกใจคน เล่นโมเดลยิ่งกว่าเดิม จนในงาน JAF CONIII ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนก.ค. ก็ได้มีการประกาศเปิดตัวกันพลาซีรีส์ใหม่ที่ถูกเรียกว่า MG (Master Grade) ขึ้นเพื่อฉลองการครบรอบ 15 ปีของการวางจำหน่ายกันพลา ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าด้วยการออกแบบต้นแบบของกันพลาด้วย 3DCAD ทำให้กันพลาซีรีส์ MG ออกมาสวยงามและทำให้นักเล่นซึ่งมีอายุและเติบโตมากับการซื้อกันพลาในสมัย ก่อนเปลี่ยนมาเล่นกันพลาซีรีส์นี้แทบจะทันที

ปี 1996 อาจจะเป็นปีที่แฟนๆ ซีรีส์กันดั้มยุคใหม่อาจจะไม่อยากจำกันมากนักเนื่องจากการที่ “After War Gundam X” ซึ่งออกฉายในปีนี้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จซักเท่าไหร่ แต่สำหรับคนที่ชื่นชอบกันดั้มภาคเก่านั้น OVA ชุด “Mobile Suit Gundam MS08th team” ก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จมากทีเดียว ส่วนในแง่ของ พลาโมนั้นปีนี้สินค้าที่ออกใหม่ก็มีเพียงแค่ซีรีส์ (LM) Limited Model ซึ่งเป็นพลาโมที่ออกมาแบบเฉพาะกิจสำหรับโมบิลสูทหรือพาหนะที่ดูแล้วไม่ค่อย มีบทบาทมากนัก หรือ ออกให้กับอนิเมเรื่องอื่นไปเลยอาทิเช่น อีวานเกเลี่ยนเป็นต้น ซึ่งภายหลังซีรีส์ LM นี้ก็จะพัฒนากลายเป็น EX Model ในภายหลัง

1997 BANDAI ที่ยังคงเล็งเห็นความนิยมอย่างต่อเนื่องของ Gundam Wing จึงตัดสินใจสานต่อเรื่องราวความสำเร็จของซีรีส์นี้อีกครั้งด้วยการออก OVA ชุด Gundam Wing Endless Waltz ออกมา โดยได้ว่าจ้างให้คุณคาโตกิ ฮาจิเมะเป็นผู้นำเอากันดั้มทั้ง 5 ตัวซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องมาออกแบบใหม่ทั้งหมดซึ่งก็ทำให้เหล่าแฟนๆ นั้นพอใจกันเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ก็ยังมีการแตกขยายเนื้อเรื่องของ Gundam Wing ออกไปด้วยการเสริมเรื่องราวในการ์ตูนชุด “New Mobile Report Gundam Wing Duel Story G-Unit” ที่เขียนโดยอ.โทคิตะ โคอิจิซึ่งตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Bon Bon และในซีรีส์นี้เองที่เราจะได้เห็นกันดั้มพิสดารมากมายที่แปลงร่างได้หลายรูป แบบ ซึ่งเป็นไอเดียที่ควรจะทำได้เฉพาะในการ์ตูน แต่ BANDAI ก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถทำสินค้าเหล่านี้ออกมาได้จริง

1998 หลังจากการออกฉายของ “Shinseiki Evangelion” กระแสของฟิกเกอร์โมเดลจากคาแรคเตอร์พุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุด รวมถึงกระแสในเล่นงานอดิเรกรูปแบบอื่นๆ มีมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเพื่อตอกย้ำในความเป็นผู้นำและบอกจุดยืนของตัวเองว่า การเล่นกันพลานั้นไกลเกินกว่าที่จะเป็นเพียงแค่งานอดิเรกรูปแบบหนึ่ง และแม้คุณจะไม่ได้ดูอนิเมของกันดั้มเลยก็สนุกกับมันได้ ทาง BANDAI จึงได้ออกสินค้าที่เรียกได้ว่าเป็นซีรีส์ที่สุดยอดที่สุดจนถึงปัจจุบันอย่าง PG (Perfect Grade) RX-78 Gundam ออกมา ด้วยชิ้นส่วนมากกว่า 600 ชิ้นและสเกล 1/60 ทำให้แฟนๆ นั้นพอใจกับสินค้าชุดนี้ค่อนข้างมาก นอกจากนี้ในปีนี้ก็มีการออกวางจำหน่ายเกมส์ SD GUNDAM G Generation บนเครื่อง Playstation ทำให้พลาโมเกี่ยวกับ SD Gundam ซีรีส์ใหม่ก็ถูกวางจำหน่ายในชื่อเดียวกัน โดยจะเน้นออกเฉพาะแต่โมบิลสูทแปลกๆ ที่มีความโดดเด่นจากในตัวเกมซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการออกวางจำหน่ายชุดใหม่ ต่อจาก หมายเลข 63 CROSSBONE GUNDAM X-2 ด้วย

1999 การฉลองครบรอบ 20 ปีของกันดั้มวนมาถึงอีกครั้ง ในปีนี้โปรเจค “Turn A Gundam” ก็ได้อุบัติขึ้น และความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือเรื่องของแมคคานิคดี ไซน์ ซึ่งได้มีการเชิญ Syd MEAD (ซิก มี้ด) มือออกแบบแมคคานิคดีไซน์ชาวอเมริกาซึ่งโด่งดังมาจากการออกแบบแมคคานิ คในภาพยนตร์เรื่อง Blade Runner มาเป็นผู้ออกแบบให้ แม้ว่าจะรูปแบบของแมคคานิคที่ซิก มี้ดออกแบบมาจะมีความพิสดารเพียงใด ทาง BANDAI ก็ยังคงแปลงให้มันออกมาในรูปแบบกันพลาได้เสมอ ซึ่งนอกจากสินค้าจากซีรีส์ Turn A แล้ว ในปีนี้ทาง BANDAI ยังได้มีการเปิดตัวสินค้าซีรีส์ใหม่อย่าง HGUC (High Grade Universal Century) โดยสินค้าซีรีส์นี้จะเน้นการนำเอากันพลา สเกล 1/144 ที่เคยออกไปแล้วมาทำใหม่ ให้สามารถออกแอคชั่นได้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะโมบิลสูทจากซีรีส์ Z Gundam และ Gundam ZZ ซึ่งในสมัยก่อนไม่สามารถทำได้มาทำการออกแบบใหม่ แต่ในปัจจุบันก็ไม่ได้มีการเน้นเฉพาะเจาะจงลงไปแบบนั้นมากนัก ขอแค่ว่าเป็นโมบิลสูทที่ขึ้นชื่อว่าปรากฏตัวในปีศักราชอวกาศ (Universal Century = UC) ก็ได้ออกเป็นกันพลาซีรีส์นี้แล้ว

ปี 2002 BANDAI ก้าวย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ของกันพลา อย่างสมบูรณ์ ด้วยสินค้าที่ตอบสนองต่อแฟนๆ ทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็น แฟนๆ ที่ติดตามกันพลามาอย่างยาวนานก็จะเลือกซื้อ MG,แฟนๆ ที่อยากเก็บสะสมโมบิลสูทให้ครบจากซีรีส์ที่ตัวเองชอบก็เลือกซื้อ HGUC ส่วนพวกแฟนพันธุ์แท้ทั้งหลายก็จะเลือกซื้อ EX Model แต่นั้นก็ยังไม่พอที่จะเรียกได้ว่าเป็น “กันดั้มแห่งศตวรรษที่ 21” อย่างแท้จริงดังนั้นในเดือนต.ค.ของปีนี้เอง “Mobile Suit Gundam SEED” ซีรีส์ล่าสุดของกันดั้มจึงได้ออกอากาศทางทีวีอีกครั้ง ด้วยความมันที่ฮิตเปรี้ยงปร้างเหมือนระเบิดนาปาลม์หย่อนลงมากลางวงการอนิเม ที่กำลังซบเซาและซ้ำซากไปด้วยการ์ตูนที่เน้นคาแรคเตอร์จนเกินพอดี ทำให้ BANDAI สามารถแตกไลน์สินค้าของซีรีส์ “SEED” ออกมาต่างหากได้โดยไม่ต้องอิงกับของเก่าได้เลยแม้แต่น้อย ไล่ไปตั้งแต่กันพลา สเกล 1/144 แบบพลาสติกฉีดสีเดียวสำหรับเด็กรุ่นใหม่หัดประกอบหลังจากที่ไม่เคยออกมานาน ไล่ไปจนถึง 1/100, HG SEED ก็ยิ่งทำให้โลกของ SEED ขยายกว้างขึ้นไปอีก

ปี 2003 เนื่องจากเล็งเห็นตลาดในประเทศอเมริกา หลังจากซีรีส์กันดั้มทั้งหลายได้เข้าไปฉายจนได้รับความนิยมอย่างสูง BANDAI จึงมีความคิดที่จะนำเอาคาแรคเตอร์กันดั้มเข้าไปเปิดตัวในอเมริกาบ้าง โดยทาง BANDAI นั้นเลือกที่จะทำซีรีส์ขึ้นมาใหม่ให้เหมาะกับประเทศอเมริกาซึ่งมีความนิยมใน อนิเมชั่นรูปแบบ CG โดยเฉพาะ ผลที่ได้จึงออกมาเป็นอนิเมชั่น CG เต็มรูปแบบอย่าง “SD GUNDAM FORCE” ซึ่งเป็นการนำเอาเรื่องราวของ SD GUNDAM ในญี่ปุ่นตั้งแต่ภาคอัศวินกันดั้มจนถึงมูชะกันดั้มมาปรับปรุงใหม่ และรวมกันจนกลายเป็นเรื่องใหม่ และเนื่องจากเรื่องนี้เป็นการทำออกมาเพื่อสนองตลาดในอเมริกา จึงไม่มีการทำของเล่นชุดนี้ออกมาในรูปแบบกันพลา จะมีแต่แบบของเล่นสำเร็จรูปซึ่งเป็นที่นิยมในประเทศอเมริกาเท่านั้น
แม้ ว่าในปีนี้อนิเมชั่นชุด Mobile Suit Gundam SEED จะจบลงไปแล้วก็ตาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นซีรีส์ Astray ซึ่งถือได้ว่าเป็น MSV ของ SEED ก็ยังคงดำเนินต่อไปเพื่อสานต่อกระแสของกันดั้มไม่ให้หยุดนิ่ง ซึ่งต้องยกย่องในความเตรียมพร้อมของ BANDAI ด้วยการกระจายสื่อและแตกเรื่องราวของกันดั้มแอสเทรย์ทั้ง 3 เครื่องอันได้แก่ Red Frame,Blue Frame และ Gold Frame ไปตามสื่อในรูปแบบต่างๆ กัน คือ ฉบับการ์ตูนที่เกี่ยวข้องกับ Red Frame โดยตรงใน Mobile Gundam SEED Astray จะลงตีพิมพ์ใน Gundam ACE ,Mobile Suit Gundam SEED Astray R ลงตีพิมพ์ใน Shonen ACE, ฉบับนิยายที่เกี่ยวกับ Blue Frame โดยตรงลงตีพิมพ์ในหนังสือ The Sneaker และ นิยายซึ่งเป็นตัวเสริมเนื้อเรื่องในภาคอื่นๆ ทั้งหมดอย่าง Mobile Suit Gundam SEED Astray B ลงตีพิมพ์ในหนังสือ Dengeki Hobby Magazine ซึ่งความสำเร็จทั้งหมดก็ดำเนินมาเรื่อยจนถึงภาคต่อเพื่อการฉลองครบรอบ 25 ปีของกันดั้มอย่าง Mobile Suit Gundam SEED Destiny ที่ออกฉายในปี 2004 นั่นเอง
ในปัจจุบันแม้ว่าจะยังไม่มีอนิเมชั่นชุดใหม่ของกันดั้มจนกว่าจะ ถึงปลายปี 2007 แต่ทาง BANDAI ก็ยังคงมีเรื่องราวใหม่ๆ เกี่ยวกับกันดั้มออกมาให้แฟนๆ ได้เก็บสะสมสินค้าในรูปแบบกันพลากันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น OVA ชุด MS IGLOO หรือว่าจะเป็นกันพลาจากเกมกันดั้มภาคใหม่ๆ ที่ทยอยออกมาอยู่เสมอ และในอนาคตก็คงมีต่อไปอีกเรื่อยๆ จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก รุ่นลูกสู่รุ่นหลาน ตราบเท่าที่คุณยังคงชื่นชอบ “กันดั้ม” อยู่เสมอ

 .....ขอขอบคุณ Thaigundam.com ครับ.......

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น